top of page
  • Facebook

จากรั้ววัง สู่รั้วบ้าน

ชุมชนวัดเทวราชกุญชร ย่านเก่าแก่ใจกลางกรุง ย่านที่พำนักของอดีตข้าหลวงที่เคยทำงานในรั้ววัง ก่อนจะแตกแขนงออกมาเป็น 7 ตระกูลเก่าแก่ประจำชุมชนวัดเทวราชกุญชรหลังออกจากรั้ววังมาสู่รั้วบ้าน เหล่าอดีตข้าหลวงก็ได้นำพาทักษะการทำอาหารตำรับชาววังอันโดดเด่นติดมือมาด้วย อาหารชาววังเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ ทั้งด้านรสชาติ และรูปลักษณ์ที่ประณีตบรรจง ไม่นานรสชาติอันเลื่องชื่อของอาหารชาววังสูตรต้นตำรับก็เผยแพร่ไปทั่ว ชาววังในแต่ละบ้านต่างพัฒนาตำรับอาหารให้โดดเด่นแตกต่างกันไป ชุมชนวัดเทวราชกุญชรจึงเป็นชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมอาหารที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานนับ 150  ปี  

บ้านขุนเจริญโภคราช
(บ้านเลขที่ 38)

ตามคำบอกเล่าของ จณัญญา ตริตรอง (คุณแอ๊ะ) และประภาวดี เจริญโภคราช หลานคนโตของคุณอุไร ขุนเจริญโภคราช กล่าวว่า เดิมตระกูลของตนมีชื่อว่า ยล สวมิวัสดุ ก่อนจะได้รับพระราชทานนามสกุลให้เป็น “ขุนเจริญโภคราช” ช่วงสมัย รศ. 113-124 (หรือราว พ.ศ. 2485-2496)    

                                            

ขุนเจริญโภคราช คือต้นตระกูลเจริญโภคราช เขารับราชการตรวจเงินแผ่นดินของกระทรวงการคลังและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และได้สมรสกับสังวาล คุ้มมณี และชมพิศ คุ้มมณี (ทั้งสองเป็นข้าหลวงใหญ่ของเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรุณวดีพระราชธิดาองค์ที่ 25 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร. 4) ภายหลังการสมรสก็ได้ย้ายออกจากวัง มาลงหลักปักฐานและเช่าที่บริเวณวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร โดยต้องชำระค่าเช่าที่ให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทุกปี ต่อมาขุนเจริญโภคราชและภรรยาทั้งสองจึงมีบุตร-ธิดา 8 คน

ตระกูลเจริญโภคราช เป็นครอบครัวใหญ่ มีบุคคลที่ความรู้และเชี่ยวชาญด้านการทำอาหารคือ สังวาลย์ คุ้มมณี และชมพิศ คุ้มมณี เป็นผู้มีทักษะความรู้ด้านอาหารชาววังที่ติดตัวมาตั้งแต่ครั้งอยู่ในรั้ววัง จึงได้นำทักษะนี้มาใช้เป็นอาชีพเพื่อช่วยครอบครัวในการสร้างรายได้ จนกลายเป็นอาชีพหลักอีกหนึ่งอย่างหลังจากออกมาอยู่เรือน โดยชมพิศ มีความถนัดด้านอาหารอย่างหลากหลาย เช่น การทำไส้กรอกปลาแนม เมี่ยงลาว สาคูไส้หมู ขนมกง และโดยเฉพาะอาหารคาวอย่าง มัสมั่น สูตรชาววังโดยตรง เป็นที่ถูกใจของบุคคลใกล้ชิดภายในชุมชน บวกกับทักษะด้านการประดิษฐ์ดอกไม้ งานใบตองของสังวาลย์ ที่มีความประณีต ทำให้ได้มาเป็นครูสอนงานฝีมือด้านการประดิษฐ์ต่างๆ ในโรงเรียนสันติราษฎร์ กรุงเทพมหานคร  นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบอาชีพรวมถึงการเกิดความรักและต้องการอนุรักษ์ อาหารคาว หวานในยุคนั้นของทั้งสอง ต่อมาองค์ความรู้และทักษะต่างๆ นั้นได้สะใภ้และรุ่นหลานสืบทอดต่อมา จึงถือเป็นตระกูลที่มีความสำคัญด้านสูตรการทำอาหารชาววังภายในชุมชนวัดเทวราชกุญชร

บ้านขุนสุพัฒน์ โภคสาร
(บ้านเลขที่ 68 ปัจจุบันเป็น
ร้านอาหารสตีฟ แอนด์ครุยซีน)

บ้านขุนสุพัฒน์ โภคสาร ตั้งอยู่บริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษมเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ขุนสุพัฒน์ โภคสาร ได้สมรสกับภรรยาคนแรก หม่อมหลวงฟ้าฟื้น อัศนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ต่อมาสมรสกับภรรยาชื่อบุญเรือน และได้ขายบ้านให้กับครอบครัวสุวรรณและบุปผา  อติรักษ์ แล้วจึงย้ายออกมาอยู่บ้านเลขที่ 52/2, 52/3 ในพื้นที่ของชุมชนวัดเทวราชกุญชร  ด้านครอบครัวอติรักษ์ ได้ซื้อบ้านของขุนสุพัฒน์ โภคสาร ด้วยทำเลที่เอื้อต่อการค้าขาย เหมาะกับกิจการการล่องแพไม้ไผ่จากต่างจังหวัดเข้ามาขายที่บริเวณหน้าวัดเทพศิรินทร์ในเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม ปัจจุบันเฟื่องฟ้า  อติรักษ์ เป็นผู้ดูแล

ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 ทำให้บ้านเรือนเกิดการทรุดโทรม เฟื่องฟ้า อติรักษ์ และสรเทพ โรจน์พจนารัช (หลานชาย) ได้มีการซ่อมแซมและปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นร้านอาหาร ชื่อว่า สตีฟ แอนด์ครุยซีน (Steve cafe & Cuisine ) ปัจจุบันถือเป็นร้านอาหารที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

บ้านหลวงเสนาณรงค์
(บ้านเลขที่ 64)

บ้านพันเอกหลวงเสนาณรงค์ หรือนามเดิม ศักดิ์ เสนาณรงค์ เป็นอดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช ผู้บัญชาการหน่วยทหารในภาคใต้ เคยร่วมต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในสงครามเอเชียบูรพาและได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงค์ตำแหน่งองคมนตรีระหว่างวันที่ 14-19 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 และถึงอสัญกรรมช่วง พ.ศ. 2498 ขณะเดียวกันบุตรชายคนที่สองได้รับตำแหน่งแทนคือ นายอำพล เสนาณรงค์ ในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน นายอำพลมีบุตรหลายคน แต่ส่วนใหญ่ได้แยกย้ายไปอยู่นอกชุมชน ทั้งนี้ยังมีบุตรชายที่ยังคงอยู่ในพื้นที่คือ นาวาเอกวิมล เสนาณรงค์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ซึ่งเป็นผู้มีความสนใจในด้านอาหารเป็นอย่างมากและมีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจรับจัดเลี้ยงอาหารบุฟเฟ่ต์ของชุมชนวัดเทวราชกุญชร โดยเริ่มต้นเปิดกิจการอาหารบุฟเฟ่ต์บริการนอกสถานที่ร่วมกับนางอุไร อรรถกิจบัญชา (เพิ่มสกุล) ที่มีความสนใจด้านการทำอาหารเช่นเดียวกัน กระทั่งเป็นที่นิยมจนมาถึงปัจจุบัน

บ้านหลวงจบกระบวนยุทธ
(บ้านเลขที่ 60)

บ้านหลังนี้เดิมทีเป็นบ้านของคุณหญิงส้มจีน โดยคุณหญิงส้มจีนมีความชื่นชอบในการทำอาหารให้กับเจ้านายหลายพระองค์ ด้วยความสามารถในการทำอาหารที่หลากหลายของคุณหญิงส้มจีน จึงได้รับความไว้วางใจให้เข้าวังโดยนำอาหารพื้นบ้านจัดถวาย และยังมีโอกาสเตรียมอาหารถวายพระในวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร ในงานบุญต่างๆ อีกด้วย จากคำบอกเล่าจากลำดวน สาสนคุ้ม ปัจจุบันบ้านหลังนี้มีครอบครัวสุขสะอาดเป็นผู้อยู่อาศัย      

บ้านคุณหลวงอรรถ อรรถกิจบัญชา (บ้านเลขที่ 76) 

คุณหลวงอรรถกิจบัญชา มีภรรยาคือคุณนายตาบ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการเรือนพระนคร นับเป็นที่ 1 ของการศึกษาในรุ่นนั้น และเป็นผู้ที่ชอบค้นคว้าตำรับอาหารไทยโบราณ รวมถึงหาความรู้ด้านอาหารต่างชาติอยู่เสมอ โดยบุตรสาวคนโต อุไร อรรถกิจบัญชา (ผู้ร่วมทำกิจการบุฟเฟ่ต์กับนาวาเอกวิมล เสนาณรงค์ ก่อนจะแยกย้ายออกมาเปิดกิจการของตนเอง) ได้สมรสกับเสริม เพิ่มสกุล ข้าราชการกรมสรรพกร อุไรมีความสนใจในด้านตำราอาหารทั้งไทยโบราณและอาหารต่างชาติ รวมถึงเป็นผู้ที่มีประสบการณ์จึงนำความรู้ที่ได้มาทดลองประกอบอาหารในสูตรของตนเองจนเป็นที่ถูกใจของคนในครอบครัวและคนใกล้ชิด เกิดการพัฒนาสูตรอาหารทั้งอาหารไทยและต่างชาติ นำมาสร้างเป็นอาชีพและต่อยอดขยายกิจการ สู่ธุรกิจรับจัดเลี้ยงนอกสถาน หรือ ธุรกิจรับจัดเลี้ยงอาหารแบบบุฟเฟ่ต์

เมื่อเกิดกิจการรับจัดเลี้ยงขึ้น ในช่วงแรกจึงมีการชักชวนกันในหมู่คนใกล้ชิดและคนรู้จักมาร่วมกันประกอบธุรกิจ โดยใช้ความสามารถ ความชำนาญในการทำอาหารประเภทต่าง ๆ ของแต่ละคน เพื่อให้ได้สูตรอาหารคาวและหวานที่ดีที่สุด รวมถึงการถ่ายทอดสูตรซึ่งกันและกันจนเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอาชีพการประกอบกิจการรับจัดเลี้ยงบุฟเฟ่ต์ขึ้น เห็นได้จากการแยกย้ายออกมาตั้งกิจการย่อยภายในชุมชนในเวลาต่อมา ปัจจุบัน (พ.ศ. 2562) บ้านรับจัดเลี้ยงของอุไรมีครอบครัวของบุตรชาย ประเทือง อรรถกิจบัญชา และ วราภรณ์ อรรถกิจบัญชา เป็นผู้สืบทอด โดยมีผู้บริหารงานคือ กรุณา ยงสิน หลานสาวของคุณอุไรเป็นผู้ดูแล

บ้านพันตรีภัณฑกิจวิจารณ์
(บ้านเลขที่ 44, 44/1)

พันตรีขุนภัณฑกิจวิจารณ์ หรือชื่อเดิม เชย รักเกษตรกิจ ก่อนจะได้รับพระราชทานนามใหม่ ช่วง รศ. 113-124 (หรือราว พ.ศ. 2485-2496) พันตรีภัณฑกิจวิจารณ์ เป็นต้นตระกูลภัณฑกิจ รับราชการทหารกรมทหารปืนใหญ่ศาลาแดง เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรร่วมกับจอมพลป.พิบูลย์สงคราม ต่อมาสมรสกับเชื้อจินดา บุญนาค และมีธิดาร่วมกัน 2 คน ครอบครัวภัณฑกิจวิจารณ์ได้เข้ามาอยู่ในชุมชนวัดเทวราชกุญชร โดยการแนะนำของขุนเจริญโภคราช คุณตาของพันตรีขุนภัณฑกิจวิจารณ์เอง ภายหลังเกษียณอายุราชการเกิดความสนใจในเรื่องต้นไม้ จึงได้เพาะชำกล้วยไม้ส่งขายตลาดริมคลองผดุงกรุงเกษมใกล้กับตลาดชุมชนวัดเทวราชกุญชร  โดยธิดาของพันตรีฯ ชื่อชดช้อย (คนเล็ก) จบการศึกษาจากโรงเรียนการเรือนโชติเวช (ปัจจุบันคือ คณะคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลพระนครเหนือ) และได้สมรสกับอุไร เจริญโภคราช บุตรคนโตของขุนเจริญโภคราช คุณชดช้อยจึงได้รับการถ่ายทอดงานประดิษฐ์ดอกไม้ใบตอง การแกะสลัก และการทำอาหารจากสังวาลย์และชมพิศ เจริญโภคราชโดยตรง และมาเรียนรู้เพิ่มเติมจากการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวง ชดช้อยมีทักษะที่เชี่ยวชาญเด่นชัดคืองานแกะสลักผลไม้ อาทิ เช่น การปลอกมะปราง, แกะเม็ดน้อยหน่า และยังทำกระท้อนลอยแก้วให้อยู่ในลูกได้อย่างสมบูรณ์และสวยงาม (รวมถึงเป็นผู้คิดทำไอศกรีมน้อยหน่าขึ้นอีกด้วย)

บ้านขุนศรีนรารักษ์
(บ้านเลขที่ 58, 58/2 58/3) 

ขุนศรีนรารักษ์ รับราชการเป็นนายอำเภอและปลัดจังหวัดของกระทรวงมหาดไทย เป็นบุตรเขยของคุณปู่ปั่นและย่านิ่ม สาสนคุ้ม โดยสมรสกับคุณนันท์ สาสนคุ้ม บุตรของคุณปู่ปั่นและคุณย่านิ่ม มีการปลูกเรือนหอต่อเติมออกมา โดยไปมาหาสู่กับผู้เป็นเจ้านายใกล้ชิด และมีราชการด่วนด้วยการเดินทางด้วยเรือพาย หรือเรือแจว คุณนันท์ภรรยาของขุนศรีนรารักษ์เป็นช่างเสื้อมีฝีมือ ได้ถวายงานตัดเย็บให้กับเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ พร้อมทั้งเป็นที่โปรดปราณของพระองค์หญิง และพระองค์ชาย ด้วยงานตุ๊กตาประดิษฐ์จากผ้าที่เหลืองานถวาย จึงได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างมาก เดิมบ้านหลังนี้เป็นของต้นตระกูลสาสนคุ้ม โดยคุณปู่ปั่นและคุณย่านิ่ม เป็นผู้เข้ามาอยู่ในชุมชนฯ ช่วงรัชกาลที่ 5 จากคำบอกเล่าของ ลำดวน สาสนคุ้ม หลานสาวของ นันท์ สาสนคุ้ม  กล่าวว่า คุณปู่ปั่นและคุณย่านิ่ม มีอาชีพล่องไม้ไผ่ ไม้ซุง สำหรับทำนั่งร้านในการก่อสร้างบ้านเรือนสมัยนั้น ต้นสายในการได้เข้ามาอยู่ในชุมชนนั้นมีเหตุคือ ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ทรงเสด็จมาด้วยพระองค์เองแบบเงียบๆ พร้อมกับมหาดเล็ก พระองค์เสด็จขึ้นบนบ้าน ทรงตรัสและพูดคุยอย่างเรียบง่าย พระองค์ทรงตรัสขอให้ขยับร่นบ้านเรือนและย้ายครอบครัวมาอยู่กันที่ชุมชนวัดสมอแครง หรือวัดเทวราชกุญชรในปัจจุบันนั่นเอง ปัจจุบันลูกหลานของครอบครัวสาสนคุ้มก็ได้ทำกิจการด้านบุฟเฟ่ต์เป็นอาชีพ

ที่มาข้อมูล

ประภาดา มูลศรี, คุณนิพนธ์ เจริญโภคราช ,จณัญญา ตริตรอง ,สรเทพ โรจน์พจนารัช ,และเฉลิมลักษณ์ เอก มณี. (2563). ครัวกรุงเทพฯ : การสืบทอดอาหารไทยชาววังสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจจัดเลี้ยงอาหารชุมชนวัดเทวราชกุญชร กรุงเทพฯ (รายงานความก้าวหน้าการวิจัย). ม.ป.ท.: ม.ป.ส.

  1. รถประจำทาง สาย 3, 9, 16, 30, 32, 33, 49, 64, 65

  2. รถประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ.5, ปอ.6 ปอ.16, ปอ.49

00008.png
0009.jpg
unnamed.jpg

สามารถสมัครติดตามเว็บไซต์ชุมชนวัดเทวราชกุญของเราได้ ที่นี่ เพียงใส่ E-mail ของท่านเอาไว้ เพื่อไม่พลาดข่าวสาร กิจกรรม และบทความใหม่ๆ ของชุมชนเรา 

Thanks for submitting!

© 2021 by Devarajkunchorn Community. 

bottom of page